อาหารเสริมไม่ใช่ยา แค่ “ช่วย” ไม่ใช่ “รักษา”

พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย เผยว่า จากบทความทางการแพทย์ที่ได้ ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA ปี 2002 พบว่า ชาวอเมริกันจำนวนมากมีระดับวิตามินในเลือดต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งมีปัจจัยมาจากมีคนจำนวน 20-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถรับประทานผักผลไม้ ซึ่งเป็นแหล่งวิตามินต่างๆ ได้ครบ 5 หน่วยบริโภคต่อวันตามที่แพทย์แนะนำ

ต่อมาลักษณะของอาหารในทุกวันนี้ที่ผลิตขึ้นตามกระบวนการอุตสาหกรรม อย่างอาหารกระป๋องหรืออาหารแช่แข็ง ประกอบกับการขนส่งยังใช้เวลานานกว่าจะถึงผู้บริโภค ทำให้ปริมาณวิตามินที่อยู่ในผักผลไม้เหลือไม่มาก และปัจจุบันคนส่วนใหญ่นิยมรับประทานอาหารที่ปรุงสำเร็จนอกบ้าน ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดความเสื่อมต่อสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงเป็นทางเลือกจำเป็นในผู้ที่มีโอกาสได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ มีปัญหาเรื่องการดูดซึม การเจ็บป่วยเรื้อรัง และในผู้สูงอายุ

“ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งที่ไม่ใช่การทดแทนการรับประ ทานอาหารให้ครบมื้อที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้ แต่เสริมให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น และไม่ใช่ยารักษาโรค โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะรับประทานเพื่อความปลอดภัย”

ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อควรจะเลือกดูว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองความปลอดภัยจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมที่แนะนำต่อวัน (RDI) เพื่อป้องกันการสะสมในร่างกาย พร้อมกันนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอในกรณีที่มีโรคประจำตัว หรือมียาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ สำคัญสุดคือต้องศึกษาหาข้อมูลก่อนเสมอว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ จำเป็นแค่ไหน มีผลข้างเคียงหรือไม่ โดยควรตรวจสอบให้แน่ใจเพื่อไม่ก่อให้เกิดอันตราย

ดังนั้นควรเลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เหมาะกับตัวเองเพื่อฟื้นฟูปัญหาสุขภาพได้อย่างตรงจุด และต้องนึกถึงความปลอดภัย อย่าคิดว่ายิ่งกินมากยิ่งดี และที่สำคัญควรออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ เพื่อปกป้องร่างกายสุขภาพดีจากภายใน

ขณะเดียวกันเมื่อทราบถึงประโยชน์ของวิตามินแล้ว ก็ต้องฉลาดในการเลือกรับประทานด้วย เพราะสุขภาพดีไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินในปริมาณสูง แต่เน้นรับประทานให้ครบชนิดในปริมาณไม่มากและไม่น้อยเกินไป

Share:

Facebook
Twitter
Pinterest